สอบผ่าน CFA Level 2 มุ่งสู่ CFA Level 3

หลังจากรอคอยมาร่วม 2 เดือน ในที่สุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 53 ที่ผ่านมา
ผลการสอบ CFA Level 2 ของผมก็ประกาศออกมาแล้วครับ

การประกาศผลสอบในครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากครั้งก่อน
จากเดิมผู้สมัครต้อง Login เข้าไปในระบบของ CFA Institute เพื่อดูผลสอบ
แต่ครั้งนี้ ผลสอบจะถูกจัดส่งให้ทางอีเมล์ของผู้สมัครเลยครับ หลังจากนั้นถ้าอยากดูในเว็บค่อย login เข้าไปดูได้อีกที
วิธีนี้ผมคิดว่าดีมากๆ ตรงที่ มันแก้ปัญหาเว็บล่มเพราะคนแห่กันเข้าไปลุ้นผลสอบได้อย่างชงัดนัก
(มันจะไม่ล่มได้ยังไงครับ เพราะคนรอลุ้นผลสอบกันร่วมแสน)

แต่มันก็สร้างปัญหาใหม่เล็กๆ ขึ้นได้เหมือนกันเมื่อเพื่อนของเราได้เมล์ผลสอบแล้ว แต่เรายังไม่ได้!!
เป็นแบบนี้ ไม่รู้จะทำยังไงล่ะครับ ได้แต่นั่ง refresh inbox ไปเรื่อยๆ… แล้วในที่สุดมันก็มาครับ
หัวเรื่องของเมล์เขียนว่า “June 2010 CFA Exam Result‏” และยังไม่ทันที่ผมจะเอามือปิดเพื่อจะค่อยๆ ลุ้น
มันก็ดันเห็นคำว่า “Pass” ซะก่อน…… จำได้ว่าร้อง Yes! อยู่คนเดียวเสียงดังมาก
มันเป็นอะไรที่ดีใจมากๆ เลยครับ เพราะถ้าใครสอบก็จะรู้ว่า การจะผ่านได้ เราต้องทุ่มเทมากแค่ไหน
โดยเฉพาะ Level 2 เป็นอะไรที่ผมคิดว่า ยากกว่า Level 1 มากกกกกก
พอเราทำได้สำเร็จ มันก็อดจะดีใจแบบออกนอกหน้าไม่ได้

พอมาลองดูผลสอบแบบละเอียดๆ ก็จะพบว่าผลสอบในครั้งนี้นั้น ผมไม่ถึงกับได้ 70% ขึ้นไปในทุกหัวข้อ
แต่มีบางหัวข้อที่ได้คะแนนน้อย และน้อยมากบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ผิดกับที่ผมประเมินตัวเองไว้ก่อนหน้า

คือหัวข้อที่ออกจากห้องสอบแล้วคิดว่าทำไม่ได้ ก็กลับได้คะแนนเกิน 70% ในขณะที่หัวข้อที่ผมคิดว่า
ทำได้สบายๆ กลับได้คะแนนมาน้อย ซึ่งยังไงซะ ผมคงต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้มาเป็นบทเรียน
เอาไว้แก้ไขในครั้งต่อๆ ไป เพราะหัวข้อที่ผมคิดว่าผมรู้ ผมอาจจะกำลังรู้แบบผิดๆ อยู่ก็ได้

พอมาดูอัตราการสอบผ่าน (Pass Rate) ในภาพรวม ก็พบว่าการสอบรอบนี้ (June 2010)
อัตราการสอบผ่านลดลงกว่ารอบ June 2009 อยู่พอสมควรเลยครับ
รอบนี้ Pass Rate ของ Level 2 อยู่ที่ 39% ในขณะที่ปีก่อนหน้าอยู่ที่ 41%
ซึ่งนับว่าผมโชคดีมากๆ ที่สอบผ่านมาได้ ^_^
.

มุ่งสู่ CFA Level 3

หลังจากรู้ผลสอบ ผมใช้เวลาประมาณ 2 วันในการตัดสินใจสมัครสอบใน Level 3 ต่อทันที
เพราะยิ่งลองคิดดูแล้ว ยิ่งสมัครเร็วยิ่งได้เปรียบ เพราะในการสอบนั้นทาง CFA Institute แนะนำว่า
เราควรจะต้องมีเวลาศึกษา Curriculum ทั้ง 6 เล่ม อย่างน้อย 250 ชั่วโมง
ดังนั้นการสมัครเร็ว ก็หมายความว่า เราจะได้รับ Curriculum เร็วขึ้น ดังนั้นเวลาโดยเฉลี่ยต่อวัน
ที่เราต้องแบ่งมาอ่านหนังสือมันก็ควรจะลดลง น่าจะทำให้เรารักษาสมดุลของชีวิตได้มากขึ้นกว่าการต้องมาอัดอ่านในเวลาสั้นๆ

การสมัครสอบในครั้งนี้มีสิ่งแปลกใหม่อีกแล้วครับ เพราะครั้งนี้นั้นผู้สมัครมีทางเลือกในการรับ Curriculum
คือเราสามารถเลือกจะรับเป็นแบบหนังสือส่งมาให้เราถึงบ้านเหมือนครั้งก่อนๆ
หรือจะเลือกรับเป็น E-Book ที่สามารถอ่านได้บนคอมพิวเตอร์ หรือจะเลือกทั้งสองแบบก็ได้
ซึ่งหลังจากที่ผมชั่งใจอยู่พักหนึ่ง ก็ตัดสินใจเลือกแบบเอาทั้งคู่ เพราะอยากจะรู้เหมือนกันครับ
ว่าเจ้า E-Book Version เนี่ย มันจะหน้าตาเป็นยังไง งานนี้ต้องจ่ายแพงขึ้นประมาณ 30 เหรียญแน่ะครับ

จากตารางข้างบน ผมเลือกสมัครสอบใน Package E-Book and Print ที่ไฮไลท์ที่น้ำเงินเอาไว้
ซึ่งถ้าใครเลือกรับเป็น E-Book อย่างเดียวจะประหยัดค่าสมัครสอบได้ 60 เหรียญ
แต่ผมว่า ไม่คุ้มน่ะครับ ยังไงซะ ผมเชื่อว่า การอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ มันก็มีประสิทธิภาพมากกว่าอยู่ดี
.

เผยโฉม CFA Level 3 – 2011 Curriculum

นับจากวันสมัครสอบมาประมาณ 5 วัน ในที่สุดวันนี้ผมก็ได้รับ CFA Level 3 Curriculum เวอร์ชั่นของปี 2011 แล้วครับ
Curriculum เวอร์ชั่นของปี 2011 นี้มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครับ เพราะเป็นครั้งแรก ที่ผมเห็นรูปของ “คน”
ปรากฏอยู่บนหน้าปกของหนังสือนับตั้งแต่ที่เริ่มสอบเมื่อปี 2009 เมื่อก่อนมีแต่เป็นรูปกราฟฟิค หรือไม่ก็รูปธรรมชาติไปเลย
ทำให้มีความรู้สึกว่า “ชั้นกำลังทำในสิ่งที่ คน คนอื่นๆ เค้าก็ทำกันเหมือนกันนะ ไม่ได้บ้าอยู่คนเดียว” 😛
ทั้งนี้ผมขออนุญาตแนะนำ CFA Level 3 – 2011 Curriculum ผ่านทางวิดีโอด้านล่างนี้นะครับ

ส่วน Curriculum เวอร์ชั่น E-Book นั้น หลังจากเราสมัครและชำระเงินเสร็จไม่นาน
เราก็จะได้รับลิ้งค์ให้เข้าไปดาวโหลดโปรแกรมสำหรับจัดการ E-Book มาไว้ที่เครื่องได้ครับ
ซึ่งพอเราเปิดโปรแกรมนั้น E-Book ก็จะค่อยๆ ทยอยถูกดาวโหลดมาเก็บไว้ที่เครื่องของเรา
ซึ่งไฟล์รวมค่อนข้างใหญ่มากๆ ครับ (ประมาณ 1GB ขึ้นไป)
แต่ในส่วนนี้ ผมขออนุญาตเล่าถึงเจ้า E-Book Curriculum ในโพสถัดๆ ไปนะครับ

รายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครสอบ CFA

ผมสังเกตจากการดู blog stats ในช่วง 2-3 วันนี้ พบว่ามีเพื่อนๆ ที่เข้ามาชมบล๊อค
จากการค้นหาใน google ด้วย keyword เกี่ยวกับ “การสอบ CFA” เยอะมากๆ
เยอะแบบผิดหูผิดตาเลยนะครับ แสดงว่าเราตื่นตัวกันพอสมควรเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ครับ
ไม่ใช่ว่าดีที่เราจะต้องเสียเงินให้ฝรั่งเค้า แต่ดีที่ว่า ถ้าเรามีคนที่สนใจเรื่องนี้เยอะๆ
ตลาดทุนของบ้านเรา ก็จะได้เข้มแข็งขึ้นในอนาคต เพราะมีคนที่มีทักษะมีความรู้เข้าไปทำงานเยอะขึ้น

หลายๆ คนเข้าไปอ่านในหน้าที่ เกี่ยวกับ CFA ของผม คงจะไม่ได้ข้อมูลอะไรมาก
เพราะตอนที่เขียนก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้ข้อมูลละเอียดอะไร แต่ตอนนี้มีคนสนใจเยอะ
ผมคิดว่า ผมควรจะเขียนอะไรซักหน่อยเกี่ยวกับการสอบนี้ จะได้เป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่เข้ามานะครับ


คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบ CFA

เบื้องต้น ผู้สมัครสอบต้องจบปริญญาตรี สาขาใดก็ได้
หรือ เรียนอยู่ในชั้นปีสุดท้ายของระดับปริญญาตรี คุณสมบัติโดยละเอียดสามารถดูได้ ที่นี่

ค่าสมัครสอบ CFA (ยิ่งสมัครเร็ว ยิ่งประหยัด)

CFA Fee Schedule

Courtesy of CFA Institute

ค่าสมัครสอบนั้นจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ
Enrollment Fee เป็นค่าลงทะเบียนแรกเข้าสำหรับผู้สอบที่ยังไม่เคยสอบ CFA ทุกคนต้องจ่าย
Exam Registration Fee เป็นค่าลงทะเบียนเพื่อเข้าสอบในแต่ละระดับจะเห็นว่า
การสมัครสอบในครั้งแรกนั้นจะค่อนข้างแพง เพราะต้องเสีย Enrollment Fee ด้วย
แต่สมมติว่าเราสอบผ่าน เมื่อเราสมัครใน Level 2 ก็จะเสียเฉพาะ Exam Registration Fee เท่านั้น

จาก Fee Schedule จะเห็นว่า ยิ่งเราสมัครเร็ว เราก็จะยิ่งเสียค่าสมัครน้อย
ดังนั้น สมัครแต่เนิ่นๆ นะครับ นี่ก็ใกล้จะหมด Deadline ที่สองแล้ว (วันที่ 21 สิงหาคม)
ถ้าสมัครหลังจากนั้นต้องจ่ายเพิ่มอีกร่วมหมื่นนะครับ

ระยะเวลาเร็วที่สุดที่สามารถสอบผ่าน CFA ทั้ง 3 ระดับได้

การจัดสอบ CFA นั้นมีการจัดสอบปีละ 2 ครั้ง โดย

ครั้งที่ 1 : เดือน มิถุนายน จัดสอบ Level 1, 2 และ 3
ครั้งที่ 2 : เดือน ธันวาคม จัดสอบ Level 1 เท่านั้น

ดังนั้นระยะเวลาเร็วที่สุดในการสอบผ่านทั้ง 3 ระดับ คือการเริ่มสอบในเดือนธันวาคม ปี 20×0 ให้ผ่าน Level 1
จากนั้นในเดือนมิถุยายน ปี 20×1 ก็สอบ Level 2 และเว้นไป 1 ปี (ไม่มีการสอบ Level 3 ในเดือนธันวา)
จากนั้น ในเดือน มิถุนายน ปี 20×2 จึงสอบ Level 3
รวมทั้งสิ้นใช้เวลา 1 ปี ครึ่งครับ (นับจากการสอบครั้งแรกจนถึงการสอบครั้งสุดท้าย)

การนับประสบการณ์ทำงานเพื่อสามารถใช้สัญลักษณ์ CFA ต่อท้ายชื่อได้

การที่เราสอบผ่านทั้ง 3 ระดับแล้ว อาจจะยังไม่สามารถใช้สัญลักษณ์ CFA ต่อท้ายได้ทันที
เพราะเงื่อนไขหนึ่งคือ เราต้องมีประสบการณ์ทำงานแบบ Full-time ครบ 4 ปี บริบูรณ์ก่อน
รายละเอียดการนับประสบการณ์ทำงาน สามารถดูได้อย่างละเอียด ที่นี่ ครับ

หลักๆ แล้วการนับประสบการณ์จะสามารถนับรวมกันได้ หลายช่วงเวลา
ทั้งก่อนการสอบ CFA, ระหว่างการสอบ CFA, หลังการสอบ CFA
โดยประเภทของงานที่ CFA Institute จะนับเป็นประสบการณ์ให้นั้นจะต้องเป็น
งานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุน
หรืองานที่มีส่วนในการสนับสนุน หรือเพิ่มมูลค่าให้กับกระบวนการลงทุน

ตัวอย่างตำแหน่งงานที่นับประสบการณ์ได้ ดูได้ ที่นี่ ครับ

=========================================================

วันนี้ผมถือโอกาสให้ข้อมูลไว้เท่านี้ก่อนนะครับ
ไว้ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมผมจะเอามา update ให้ทุกท่านทราบอีกครั้งหนึ่ง
ถ้ามีคำถามหรือข้อสงสัย หรือต้องการแชร์ข้อมูลอะไรก็ตาม
สามารถ Leave Comment ได้นะครับ (กดที่ลิ้งค์ด้านบนบทความนี้ครับ) ^_^

สมัครสอบ CFA

อีกประมาณ 10 กว่าวันผมก็จะสอบ GMAT เป็นครั้งแรกอยู่แล้ว
ไฟลนก้นร้อนๆ อยู่ยังไม่พอ วันนี้ผมยังได้เพิ่มภาระให้ตัวเองอีกเรื่องนึง
แต่แหม มันก็เป็นภาระที่ผมยินดีจะรับน่ะครับ อย่างน้อยก็เพื่ออนาคตที่ดีของตัวเอง
ภาระที่ว่านั้นก็คือ เรื่องการสอบ CFA ครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่ไม่คุ้นกับชื่อ CFA ผมขอเล่าถึงหลักสูตร CFA อย่างคร่าวๆ นะครับ
CFA ย่อมาจาก Chartered Financial Analyst
ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เป็นเหมือนใบรับรองคุณสมบัติทางวิชาชีพ
ของผู้ที่จะประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน
โดยเฉพาะในส่วนของงานด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์ และการจัดการลงทุน

จุดเด่นของหลักสูตร CFA ก็คงจะเป็นเรื่องของการเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก
ถึงขั้นเรียกกันว่าเป็น Gold Standard ของนักวิชาชีพด้านการเงิน
โดยเฉพาะตำแหน่งงานบางตำแหน่งนั้น อาจมีกฏระเบียบบังคับไว้เลยทีเดียวว่า
ผู้ที่จะทำงานในตำแหน่งนี้ ต้องสอบผ่าน CFA ในระดับใดก่อน
แม้กระทั่งในประเทศไทย ผู้ที่จะทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้
ในปัจจุบันก็ต้องสอบผ่าน CFA หรือ CISA Level 1 หรือผู้ที่จะทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน
ก็ต้องสอบผ่าน CFA หรือ CISA Level 3 เป็นต้น
* CISA เป็นหลักสูตรภาคภาษาไทยของ CFA ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
และจัดสอบโดย TSI โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาบางประการ เช่นด้านกฏหมาย ให้เหมาะสมกับประเทศไทย

Read more of this post